..ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่บล็อกแห่งการเรียนรู้สำหรับเยาว์ชนรุ่นใหม่ที่รักในการท่องอินเตอร์เน็ต..

29 ม.ค. 2555

เผยผลวิจัยหลักสูตรครู 5 ปีดีกว่า 4 ปี

ผลวิจัยหลักสูตรครู 5 ปี ดีกว่า 4 ปี เนื้อหาเข้มข้น ทันสมัย เน้นคุณธรรม จริยธรรมวิชาชีพ เสนอ “สุชาติ” เดินหน้าผลิตครูครบวงจร เริ่มจากคัดเลือกให้ทุนและประกันการมีงานทำ หวังได้ครูเก่งและดี 


วันนี้(23 ม.ค.)ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย( 16 สถาบัน )หรือ ทคศ. เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต 5 ปี และเปรียบเทียบหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต 4ปีกับ 5 ปี ว่า ภาพรวมของหลักสูตรครู 5 ปี ถือว่าดี เนื่องจากเนื้อหาของหลักสูตรครอบคลุมทุกด้านทั้งความรู้ ทักษะ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของการออกไปเป็นครูและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ รวมทั้งยังมีระบบการคัดเลือก การวางแผนการจัดการเรียนการสอน การวัดผล มีระบบปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนและระบบติดตามประเมินหลักสูตรทุก 5 ปี อย่างเป็นระบบ ขณะที่ นิสิตนักศึกษาและอาจารย์พึงพอกับหลักสูตรนี้มาก ส่วนผลการเปรียบเทียบหลักสูตรครุศาสตร์บัณฑิต 4 ปีกับ 5 ปีพบว่าหลักสูตร 5 ปี ดีกว่าหลักสูตร 4 ปี ที่หลักสูตร 5 ปีจะมีความเข้มข้น เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของคุรุสภา มีความทันสมัยสอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน เน้นคุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพ และที่สำคัญจากการประเมินผลนิสิตนักศึกษาที่เรียนหลักสูตร 5 ปี พบว่ามีความรู้ ประสบการณ์วิชาชีพ ทักษะในการฝึกสอนและมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพมาก 


ศ.ดร.ศิริชัย กล่าวต่อไปว่า จากการวิจัยมีข้อเสนอแนะการพัฒนาหลักสูตรผลิตครู 5 ปี คือควรคัดเลือกผู้เข้าเรียนที่มีใจรักจะเป็นครู และปลูกฝังความเป็นครู มีจรรยาบรรณตั้งแต่เรียนชั้นปีที่ 1 ลดการเรียนในรายวิชาที่ซ้ำซ้อนกัน และเพิ่มหน่วยกิต เพื่อนิสิตนักศึกษาจะได้มีความลุ่มลึกกับรายวิชาที่เรียนมากขึ้น นอกจากนี้ต้องเพิ่มรายวิชาเรียน เช่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ กฏหมาย สำหรับครูวิชาการวิชาการวิจัยในชั้นเรียนและวิชาเอกเลือก ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการผลิตครูในภาพรวมนั้นจะต้องพัฒนาระบบการคัดเลือก คัดเลือกคนดี คนเก่ง มาเรียนวิชาชีพครูอย่างเป็นระบบ สร้างแรงจูงใจและค่านิยมในวิชาชีพครู เช่นการให้ทุนเรียน ค่าตอบแทน เงินเดือน สวัสดิการที่สูงขึ้น และการบรรจุเข้ารับราชการ รวมทั้งควรมีการติตามและประเมินสัดส่วนการบรรจุครูและการทำงานของครูภายในเวลา 5 ปี อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนา 


“จากผลการวิจัยทำให้สิ่งที่ผมเคยคิดว่าหลักสูตรครู 4 ปีกับ 5 ปี ไม่ต่างกันนั้นเป็นเรื่องที่ไม่จริง จากนี้คงจะย้อยไปผลิตครู 4ปี ไม่ได้แล้ว แต่จะต้องเดินหน้าผลิตครู 5 ปีและอื่นๆตามความเหมาะสม ส่วนรัฐบาลนี้เปลี่ยนชื่อการผลิตครูเป็นอย่างไรฝ่ายผลิตครูไม่สนใจ เพียงแต่ขอให้การผลิตครูเป็นไปอย่างครบวงจรและเป็นระบบที่ต้องคัดเลือกเด็กเก่งในท้องถิ่นเข้ามาเรียนตั้งแต่แรก และมีการให้ทุนเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1และประกันการมีงานทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คนเก่ง และดีมาเรียนครูมากขึ้น คาดว่าปลายเดือนม.ค.หรือต้นเดือนก.พนี้ ทาง ทคศ.จะนำผลวิจัยนี้เสนอต่อศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ พร้อมรับฟังนโยบายการผลิตครูด้วย” ศ.ดร.ศิริชัย กล่าว 


22 ม.ค. 2555

ทำอย่างไรจึงจะฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง

"ทำอย่างไรให้ฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องและพูดภาษาอังกฤษเก่ง”  หรือ "ทำอย่างไรจึงจะพูดภาษาอังกฤษได้คล่อง” หรือ “ทำอย่างไรจึงจะพูดภาษาอังกฤษได้เก่ง”
 เป็นคำพูดที่มักจะเจอบ่อยๆสำหรับคนที่อยากจะ พูดภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งๆที่เรียนภาษาอังกฤษกันมาแล้วมากมาย บางคนเรียนมาแล้วมากกว่า 10 ปี บางคนเรียนภาษาอังกฤษมากับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ หลายสถาบัน แต่ก็ยังไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ซักที บางคนสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ดี และเข้าใจได้ดี หรือบางคนทำคะแนนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ดี แต่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เพราะอะไร
สาเหตุที่สำคัญคือ ทักษะการฟังภาษาอังกฤษ   กล่าวคือเราต้องพัฒนาทักษะการฟังภาษาอังกฤษก่อน และต้องฟังประโยคซ้ำๆ หลายๆรอบจนขึ้นใจแล้วพูดตาม  ออกเสียงตามให้เหมือนที่สุด อาจไม่เข้าใจความหมาย หรือคำแปล ไม่เป็นไร
การฟังภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญที่สุด และพัฒนายากที่สุด  ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของคนไทยส่วนใหญ่ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งหมดของการเรียนภาษาอังกฤษ ของคนไทย  
หากเราลองนึกดูว่า แล้วภาษาไทยที่เราพูด, อ่าน และเขียนได้ในปัจจุบัน นั้น  มีพื้นฐานมาจากอะไร หากไม่ใช่มาจากการฟัง ฟังจนเข้าใจในสิ่งที่เราได้รับฟังมา  แล้วเลียนเสียงนั้น(คือการพูดตาม) จนพูดได้  หลังจากนั้น จึงเริ่มเรียนการเขียน   แล้วจึงตามมาด้วยการอ่าน
เช่นเดียวกัน  หากเราได้ ฟังภาษาอังกฤษ หลายๆรอบ บ่อยๆ ซ้ำๆจนจำขึ้นใจแล้ว เราจะพบว่าเราสามารถฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องและเข้าใจโดยอัตโนมัติ  นอกจากนั้นยังสามารถ พูดภาษาอังกฤษได้อีกด้วย
วิธีการฝึก ฟังภาษาอังกฤษ ให้ได้ผลเร็ว มีเทคนิค ดังนี้
1.         ฝึกฟังจากเทป บทสนทนาภาษาอังกฤษ ซึ่งบทสนทนานั้นจะต้องพูดด้วยความเร็วปกติที่ชาวต่างชาติพูด   อย่าฝึกฟังจากเทปที่พูดช้ากว่าการพูดปกติของเขา เนื่องจากจะทำให้เราเคยชินกับการฟังภาษาอังกฤษ แบบที่พูดช้าๆ และเมื่อเจอชาวต่างชาติที่พูดด้วยอัตราความเร็วปกติ เราก็ไม่เข้าใจเช่นเดิม
2.        การฝึกฟังครั้งแรกๆ ควรเริ่มฟัง ครั้งละ  5 - 10 ประโยค (อย่าฟังประโยคเยอะเกินไปจนไม่สามารถจะจำประโยคเหล่านั้นได้)  
3.        ขณะที่ฝึก ฟังภาษาอังกฤษ ต้องมี Script เสมอ
4.       ในการฝึกฟังแต่ละครั้ง ต้องฟังให้ได้อย่างน้อย 4 รอบ คือ
-    รอบที่ 1 ฟังพร้อม Script และหากเห็นว่าคำใดที่เราเคยออกเสียงไม่เหมือน
     เขา หรือ   เราฟังไม่รู้เรื่องแม้จะมี Script  ให้หยุดเทป แล้วจดลงใน Script ว่า
      เสียงที่เราได้ยินนั้นคืออะไร
-          รอบที่ 2 และ 3 ออกเสียงตาม 
-          รอบที่ 4, 5, 6, ..... ลองฟังแบบหลับตา โดยไม่มีScript
5.        ช่วงแรก ขอให้ฝึกฟังประโยคเดิมๆ ด้วยวิธีข้างต้น สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง (ฝึกทุกวันได้ยิ่งดี) แล้วจึงค่อยๆเพิ่มจำนวนประโยคให้มากขึ้นเป็น 15-20 ประโยค ต่อการฝึกฟังแต่ละครั้ง
หากทำวิธีดังกล่าวข้างต้นอย่างสม่ำเสมอ เพียงเดือนเดียว รับรองว่านอกจากจะ ฟังภาษาอังกฤษ รู้เรื่องแล้ว ยังสามารถ พูดภาษาอังกฤษ ได้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
ดังนั้น การพัฒนาทักษะการฟังภาษาอังกฤษ  จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากที่สุด   ที่ต้องได้รับการพัฒนาก่อนเป็นอันดับแรก   การฟังมากๆ ซ้ำๆ  นอกจากจะทำให้ทักษะการฟังภาษาอังกฤษดีขึ้นแล้ว  ยังทำให้สามารถพูดได้   เมื่อเราพูดประโยคเหล่านั้นออกมาได้แล้ว   เราก็หลุดออกจากกับดักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้แล้ว นั่นแปลว่าเราได้เข้าสู่วงจรของการที่จะสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างอัตโนมัติแล้ว 
หลังจากนั้นจึงค่อยมาศึกษาคำแปลของประโยคเหล่านั้น และเพิ่มประโยคเหล่านั้นให้มีสะสมในสมองมากขึ้น   ลำดับต่อไปจึงฝึกพูดประโยคภาษาอังกฤษเหล่านั้นให้เร็วขึ้น เราก็จะสามารถพูดภาษาอังกฤษแบบอัตโนมัติจากจิตใต้สำนึกโดยไม่ติดขัดอีกแล้ว
แล้วจึงมาฝึกหรือแก้ไขคำที่เรามักจะออกเสียงภาษาอังกฤษไม่ถูกต้องไม่ชัด  ให้พูดได้ชัดเจนขึ้น ตรงนี้อาจต้องอาศัยครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา เช่นชาวอังกฤษหรือชาวอเมริกัน ที่มีประสบการณ์มาช่วยสอน เพื่อให้เรียนได้เร็วและมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษมากขึ้น
ถ้าทำเช่นนี้ได้บ่อยๆก็จะสามารถฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่อง และพูดภาษาอังกฤษเก่ง…. ไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหม ??

15 ม.ค. 2555

วันครู/ครูคือ?

 เดือนมกราคมของทุกปี เป็นเดือนต้อนรับศักราชใหม่ที่มีวันสำคัญ ๆ อยู่หลายวัน ซึ่งหลังจากที่ได้สนุกหรรษากับวันปีใหม่ และวันเด็กกันไปแล้ว ก็ถึงคิวของวันครู อีกหนึ่งวันสำคัญที่ทุกคนจะได้รำลึกถึงครูบาอาจารย์กันในวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี
          และเพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ลูกศิษย์ทั้งหลายได้รำลึกถึงพระคุณของคุณครู วันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ ประวัติ วันครู และเกร็ดน่ารู้ในวันครู ทั้ง บทสวดบูชาครู กิจกรรมวันครู ฯลฯ แต่ก่อนจะไปพบกับสาระดี ๆ ในวันครูนั้น ต้องบอกก่อนเลยว่า วันครู ครั้งแรกเกิดขึ้นเนื่องมาจากในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 16 มกราคมของทุก ๆ ปี เป็น วันครู โดยการจัดงานวันครู ได้มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 และให้ดำเนินเรื่อยมาทุกปี นับตั้งแต่บัดนั้นมา  


ข้อมูลเพิ่มเติม  ; http://hilight.kapook.com/view/19311

วันแรกของการสังเกตการสอนที่ ร ร ทวีธาภิเศก

Mobile cabinet meeting in Chiang Mai discusses logistics development

Mobile cabinet meeting in Chiang Mai discusses logistics development

12 ม.ค. 2555

การจัดการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ความหมาย
        ความคิดสร้างสรรค์  หมายถึง กระบวนการทางปัญญาระดับสูง ที่ใช้กระบวนการทางความคิดหลาย ๆ อย่างมารวมกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ หรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ดีขึ้น โดยมีอิสรภาพทางความคิด
        ความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นคุณลักษณะทางความคิดอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญต่อผู้เรียน ฉะนั้น การสอนและการฝึกฝนให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีชีวิตอย่างมั่นใจในตนเอง และมีคุณภาพยิ่งขึ้น
แนวคิด
ความคิดสร้างสรรค์  เป็นกระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่ใช้กระบวนการความคิดหลาย ๆ อย่างมารวมกัน ประกอบด้วย 
1.    ความคิดคล่องแคล่ว หมายถึง ความสามารถคิดหาคำตอบที่เด่นชัดและตรง
ประเด็นมากที่สุด
        2. ความคิดยืดหยุ่น หมายถึง ความสามารถในการปรับสภาพของความคิดในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
        3. ความคิดริเริ่ม หมายถึง ความสามารถคิดแปลกใหม่ แตกต่างจากความคิดธรรมดา และอาจเกิดขึ้นจากการนำความรู้เดิมมาคิดดัดแปลงและประยุกต์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้น
        4. ความคิดละเอียดลออ หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นรายละเอียดในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น
กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
ทอร์แรนซ์เชื่อว่า  ทุกคนสามารถได้รับการฝึกให้มีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นได้ ในการฝึกต้องใช้วิธีการที่ต่อเนื่องและทำอยู่สม่ำเสมอเป็นประจำ มุ่งไปในด้านการคิดแก้ปัญหา การทำกิจกรรม เช่น
        1. กิจกรรมศิลปะ เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และชวนฝึกประสาทสัมผัสระหว่างมือกับตา การรู้จักใช้ความคิดของตนในการแสดงออกทางความคิดหลาย ๆ ด้าน เช่น การวาดภาพละเลงสี การฉีกกระดาษ การตัดกระดาษ  การปั้นดินเหนียว การประดิษฐ์เศษวัสดุ เป็นต้น
2.    กิจกรรมด้านภาษา  ได้แก่ การเล่านิทาน การเล่นละคร การเล่นบทบาท
สมมติ กิจกรรมเข้าจังหวะ และการแสดงออกทางด้านจินตนาการ เป็นต้น

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 
1.    ขั้นสร้างความตระหนัก  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ผู้สอนใช้เทคนิคต่าง ๆ ใน
การกระตุ้นให้ผู้เรียนเข้าสู่เรื่องที่จะเรียนรู้ เช่น เกม เพลง นิทาน ลีลา ท่าทางต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเกิดความคิดจินตนาการ
        2. ขั้นระดมพลังความคิด  เป็นการดึงศักยภาพของผู้เรียนให้ค้นหาคำตอบ  ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วม โดยผู้สอนทำหน้าที่เหมือนผู้อำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน
        3. ขั้นสร้างสรรค์ชิ้นงาน  ผู้เรียนได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้คิดหาคำตอบได้แล้ว เกิดจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่าง ๆ
        4. ขั้นนำสนอผลงาน  เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ผู้เรียนได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน วิจารณ์ชิ้นงาน มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานที่เพื่อน ๆ มานำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ ฝึกให้รู้จักการยอมรับ การมีเหตุผล การประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนและสิ่งที่เรียนรู้
        5. ขั้นวัดและประเมินผล  เป็นการวัดและประเมินผลตามสภาพจริง โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย ผู้เรียนรู้จักประเมินผลงานตนเองและผู้อื่น มีการยอมรับการแก้ไข บนพื้นฐานของความถูกต้อง
        6. ขั้นเผยแพร่ผลงาน  ผลงานของผู้เรียนทุกคนทุกกลุ่ม  ได้นำไปเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดนิทรรศการ และการนำผลงานสู่สาธารณชน
บทบาทของผู้สอน
1. มีอารมณ์ที่แจ่มใส  มีใจคิดสร้างสรรค์
2. ร่วมแก้ปัญหาและให้เวลาในการค้นหาคำตอบของผู้เรียน
3. เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการแก้ปัญหา
4. ใช้เทคนิคในการกระตุ้นให้ผู้เรียนหาคำตอบได้อย่างรวดเร็ว
5. ผู้เรียนมีผลงานนำไปเผยแพร่
บทบาทของผู้เรียน
        1. รู้จักการยอมรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อแนะนำ
        2. มีความกระตือรือร้น กล้าแสดงความคิดเห็น กล้านำเสนอสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น
        3. แสวงหาความรู้คำตอบอย่างมีเหตุผล
ประโยชน์ที่ได้รับ
        1. ผู้เรียนมีความคิดที่อิสระ ไม่มีรูปแบบตายตัว
        2. ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  มีการบูรณาการในตัวเอง
        3. เปิดทางเลือกให้ผู้เรียนหาคำตอบที่หลากหลาย
        4. ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม
        5. ผู้เรียนสร้างชิ้นงาน/ผลงาน สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ที่เป็นรูปธรรม
        6. เชื่อมโยงความคิดอย่างเป็นระบบอย่างมีขั้นตอนตากง่ายไปยาก สิ่งที่ใกล้ตัวไปไกลตัว
        7. นำไปจัดการเรียนรู้ได้กับทุกกลุ่มสาระ และสามารถเชื่อมโยงกับรูปแบบการเรียนรู้อื่น ๆ
การนำไปประยุกต์ใช้
        การจัดการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  สามารถปรับประยุกต์ใช้ในสถานศึกษาทุกชั้นและทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้
สรุป
กิจกรรมความคิดสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียน มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถจัดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น กิจกรรมทางภาษา กิจกรรมการแสดงออกทางจินตนาการ การวาดรูป  การเล่านิทานโดยใช้เทคนิคต่าง ๆ การเล่นสีแบบต่าง ๆ งานสร้างสรรค์จากกระดาษ การประดิษฐ์ รวมทั้งการฝึกแก้ปัญหาในทางสร้างสรรค์ เป็นต้น